ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นของบริษัท GameStop เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลก และมีการหยิบยกเหตุการณ์นี้ขึ้นมาว่าเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญในตลาดหุ้น ที่นักลงทุนรายย่อยลุกฮือร่วมมือกันต้อนนักลงทุนสถาบันให้จนมุม ผมจึงอยากเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแบบสั้น ๆ และเราค่อยมาตัดสินใจกันอีกทีว่าเรื่องนี้คือ “การปฏิวัติในตลาดทุน” หรือเป็นเพียงแค่เรื่องธรรมดาของ “กลไกตลาดทุนแบบเสรี”
บริษัท GameStop เป็นร้านขายเครื่องเล่นเกมส์และแผ่นเกมส์ ก่อตั้งเมื่อปี 1984 โดยได้ขยายสาขาและซื้อกิจการของบริษัทอื่นอย่างต่อเนื่อง จนมีสาขากว่าห้าพันแห่งในอเมริกาและในอีก 11 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลกำไรของ GameStop ในช่วงปี 2009 – 2017 แทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย เป็นสัญญาณที่สื่อว่าโมเดลการทำธุรกิจของ GameStop อาจจะกลายเป็นธุรกิจที่โตเต็มที่จนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ต่อมาในปี 2018 – 2019 กำไรของบริษัทลดลงอย่างมากจนถึงขั้นขาดทุน เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อเกมผ่านช่องทาง Online เพื่อ Download ลงเครื่องเกมอย่าง Playstation หรือ XBOX โดยไม่ต้องซื้อแผ่นเกมอีกต่อไป รวมทั้งนักเล่นเกมบางส่วนก็เริ่มหันไปเล่นเกม ผ่าน Smart Phone มากยิ่งขึ้น ประกอบกับในปีที่แล้ว GameStop ก็เจอกับวิกฤต COVID-19 อีก ทำให้ราคาหุ้น GameStop “GME” ตกลงไปอยู่ที่ประมาณ 3 – 4 USD จากที่เคยยืนอยู่ในช่วงราคา 30 – 40 USD ในปี 2013 – 2015 แม้จะมีการแต่งตั้งผู้บริหารใหม่มากู้วิกฤตจนทำให้ราคาหุ้นในช่วงปลายปี 2020 กระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่นักลงทุนบางกลุ่มก็ยังมองว่าอนาคตของ GameStop นั้นไม่น่าจะกลับมาสดใสได้เหมือนวันเก่า นักลงทุนกลุ่มนี้จึงขอยืมหุ้นจากคนอื่นมาขายก่อน แล้วค่อยรอซื้อคืนเมื่อราคาลดลงเพื่อทำกำไร โดยสิ่งนี้เรียกว่าการทำ Short Sell นั่นเอง
การทำ Short Sell ไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องเป็นนักลงทุนสถาบันเท่านั้น นักลงทุนรายย่อยก็สามารถทำ Short Sell ได้เช่นกัน นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบันหรือกองทุนนั้นมีหลากหลายประเภท ทั้งแบบที่มีนโยบายให้ Short Sell และแบบที่ห้ามไม่ให้ Short Sell โดยที่ GameStop เป็นหนึ่งในหุ้นเป้าหมายที่จะทำธุรกรรม Short Sell ควบคู่ไปกับหุ้นตัวอื่น ๆ เช่น AMC Entertainment ธุรกิจโรงภาพยนตร์ และ Beyond Meat ธุรกิจเนื้อสัตว์เทียมสังเคราะห์จากพืช เป็นต้น เห็นได้ว่าเป้าหมายของหุ้นที่จะถูก Short Sell นั้น ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นธุรกิจใหม่หรือเก่าโดย GameStop เป็นหุ้นที่ถูก Short Sell ในปริมาณสูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายอยู่ในตลาด ดังนั้น Supply ของหุ้นที่จะถูกยืมมา Short Sell เพิ่มเติมจึงมีจำนวนน้อยลงตามลำดับ เมื่อนักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันเห็นภาพนี้ บางกลุ่มอาจจะมีกลยุทธ์ประเภทสวนตลาดหรือ Contrarian โดยการซื้อหุ้น GameStop ในปริมาณมาก ผลักดันให้ราคาสูงขึ้นกดดันให้นักลงทุนสถาบันประเภท Hedge Fund ที่ Short Sell หุ้นตัวนี้ไว้ ต้องซื้อหุ้นคืนเพื่อจำกัดผลขาดทุน เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่หลายสิบปีก่อนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเราเรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่า Short Squeeze
สาเหตุที่ GameStop เป็นที่พูดถึงอย่างมากนั้น มาจากการที่นักลงทุนกลุ่มหนึ่งไปตั้งกลุ่มใน Reddit ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ Webboard พันทิพย์ในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อยเปิดบัญชีเข้ามาซื้อหุ้น GameStop กันหลายล้านคน โดยส่วนมากจะเปิดบัญชีผ่าน Robinhood Application เนื่องจากเปิดบัญชีได้ง่ายและซื้อขายหุ้นได้โดยไม่มีค่าคอมมิชชัน กดดันให้ Hedge Fund ที่ Short Sell ไว้ต้องหนีตายโดยการซื้อหุ้นคืน ส่งผลให้หุ้น GameStop ราคาเพิ่มขึ้นสูงมากในเวลาสั้น โดยทำจุดสูงสุดที่ 483 USD ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2021 นักลงทุนที่ Short Sell หุ้นไว้ก่อนหน้านี้จึงเจอผลขาดทุนขนาดหนัก จนต้องยอมแพ้ซื้อหุ้นคืนหรือยอมเติมเงินเพื่อมาสู้ต่อ ในจุดนี้เลยมีหลายข่าวที่พยายามปลุกกระแสความดราม่าเรื่องชัยชนะของนักลงทุนรายย่อยที่มีต่อนักลงทุนสถาบัน แต่คำถามแรกคือ “นักลงทุนที่ช่วยกันซื้อหุ้นเพื่อ Short Squeeze นั้น มีแค่นักลงทุนรายย่อยอย่างเดียว หรือว่ามีนักลงทุนสถาบันผสมโรงด้วย”
ที่จริงแล้วทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อยต่างทราบดีว่า ราคาหุ้น GameStop ที่เพิ่มขึ้นจนเกินความสามารถในการทำกำไรไปหลายเท่าตัว ไม่มีทางที่จะอยู่แบบนั้นไปได้ตลอด ในไม่ช้าราคาต้องกลับลงมาหาจุดที่สมดุลตามปัจจัยพื้นฐาน เปรียบเหมือนการส่งสัญญาณว่างานเลี้ยงนี้ต้องมีวันเลิกรา ขึ้นอยู่กับว่าใครลุกจากโต๊ะเป็นกลุ่มหลัง ไม่ทันเพื่อน ก็คือคนที่ต้องจ่ายเงินรอบวง แมงเม่าที่บินเข้ามาซื้อรอบหลังที่ราคาสูงก็ต้องติดดอยไปตามระเบียบ เพราะตอนนี้หุ้น GameStop มีราคาเพียงประมาณ 50 USD เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนเดิมทุกครั้ง แต่ครั้งนี้กระแส Social Media ดราม่าแรงเกี่ยวกับเรื่องชัยชนะของนักลงทุนรายย่อย สุมไฟโดย Elon Musk ที่ออกมาต่อว่าการทำ Short Sell ผ่าน Twitter จนทำให้จำนวนแมงเม่ามีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามเข้ามาในหัวผมว่า “นักลงทุนที่ขายหุ้นสวนลงมาหรือรอ Short Sell ที่ราคาสูง ๆ นั้น มีแค่นักลงทุนสถาบันอย่างเดียว หรือว่ามีนักลงทุนรายย่อยร่วมด้วยช่วยกัน”
ฝากเพื่อน ๆ ช่วยกันคิดนะครับ ว่าที่จริงแล้วเรื่อง GameStop นี้คือเรื่องดราม่าหรือแค่เรื่องธรรมดาของตลาดทุน หรือว่าจะเป็นการปั่นกระแสความดราม่ามา เพื่อเสริมกลไกธรรมดาของตลาดแบบเดิม ๆ
โดย ชลเดช เขมะรัตนา Group CEO Robowealth